เสื้อ เก่าไป กระเป๋า ใหม่มา

แกะรอยบริษัทเล็กๆ แต่ไอเดียดี นำของเก่ามาแปลงโฉม เติมมูลค่าด้วยดีไซน์เก๋ ตั้งต้นด้วยเงินทุน 1 ล้าน แต่ทำกำไรกว่า 5 ล้านบาทต่อปี
ในภาวะที่กระแส 'Go Green' กำลังอินเทรนด์ทั้งไทยและต่างประเทศ การกอบกู้โลกไม่ได้มีอยู่แค่ปิดน้ำ ปิดไฟ ใช้ถุงผ้าเท่านั้น แต่เจ๋งกว่านั้น หากสามารถดัดแปลงเสื้อยืดย้วยๆ ให้กลายมาเป็นกระเป๋าสุดเท่ได้
และเจ้าของไอเดียที่น่านำไปลอกเลียนแบบนี้ก็คือ ยุทธนา อโนทัยสินทวี กรรมการผู้จัดการบริษัท Triple Pim ซึ่งคิดค้นการนำของมือสองมาแปลงโฉม เพิ่มมูลค่าให้กิ๊บเก๋ ด้วยดีไซน์แปลกใหม่ ลวดลายบาดตา ภายใต้แบรนด์ The Remaker ที่ตั้งต้นลงทุนด้วยเงินเพียง 1 ล้านบาท แต่ทำกำไรได้ปีละกว่า 5 ล้านบาท

ขายได้ที่เมืองนอก ส่วนเมืองไทยเงียบ
ต้นกำเนิดของแบรนด์นี้ มาจากความสนใจเรื่องการนำขยะมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นคนชอบคิด ชอบดัดแปลง และรู้สึกดีที่ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ซึ่งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ประกอบกับตัวเขาเองมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกและนำ เข้าสินค้าที่เห็นแววรุ่ง หากได้เปิดตัวที่แดนปลาดิบ ว่าแล้วเลยใจถึงตั้งแบรนด์ Mad Idea ที่โอซาก้า เพื่อรองรับสินค้าจากการดีไซน์ของยุทธนาโดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การนำเสื้อผ้ามือสองมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า หมวก เข็มกลัด และเสื้อผ้า ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2549 แต่แล้วก็แยกทางกัน ด้วยแนวคิดที่ไม่ตรงกัน เพราะอีกฝ่ายต้องการทำของใหม่ให้เป็นของเก่า แทนที่จะใช่ของเก่าแบบเดิม

หลังจากนั้น ยุทธนาจึงได้เตรียมเปิดตัวตลาดใหม่ที่ประเทศฝรั่งเศส ตามมาด้วยประเทศในแถบยุโรป ซึ่งรู้จักแบรนด์นี้จากกรมส่งเสริมการส่งออก โดยการออกงานแสดงสินค้า อีกทั้งยังมีโครงการจะเปิดตัวปีหน้าในงานแสดงสินค้าชื่อ Maison & Objet ที่ประเทศฝรั่งเศส
ส่วนตลาดบ้านเรายังเหมือนแสงเทียนริบหรี่ ไม่เหมือนตลาดต่างชาติ เพราะยังมีปัญหาด้านทัศนคติว่า ของที่นำมาทำเป็นของมือสอง แต่ทำไมแพงกว่าของมือหนึ่ง ทำให้มีวางขายแค่ 2 แห่งในเมืองไทย คือร้าน Loft และ TCDC
"เราต้องพิถีพิถัน ทุกใบเป็นงานแฮนด์เมดที่ไม่เหมือนกัน มีใบเดียวในโลก แต่คนไทยยังเห็นความสำคัญในส่วนนี้น้อย ทำให้สินค้าที่ผลิตได้ต้องส่งตลาดต่างประเทศ 90 เปอร์เซนต์ และขายในประเทศเพียง 10 เปอร์เซนต์"
แต่ถ้าให้บอกถึงกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนนั้น ยุทธนาตอบว่าทั้งในและต่างประเทศกลุ่มลูกค้าล้วนแต่เป็นวัยทำงานขึ้นไปจนถึง กลุ่มอายุ 50-60 ปี

"วัยรุ่นจะมองของใหม่ และแฟชั่นมากกว่า ดังนั้น ใจที่จะมาซื้อตรงนี้ก็น้อยลง ประกอบกับราคาที่สูง และยังไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อม ก็แปลกดี ทั้งที่เคยคิดว่าวัยรุ่นน่าจะชอบมากกว่า (หัวเราะ)”
ส่วนในแง่ของการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักนั้น เขาบอกว่า การโฆษณาที่ใช้อยู่ตอนนี้ คือ การออกงานนิทรรศการภายในประเทศ การทำเว็บไซต์ การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งนับว่าเพียงพอแล้วสำหรับเขา ถ้ามองจากมุมความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์ที่ตัวเองจบมาจากมหาวิทยาลัยราม คำแหง
คิดแล้วคิดอีก กว่าจะได้...
สนนราคาของสินค้ามากไอเดียเพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่กระเป๋าเครื่องสำอางและเครื่องเขียนใบละ 200 บาท จนถึงสูงสุดใบละ 7,000 บาท เป็นกระเป๋าใส่โน๊ตบุคส์ทำจากเสื้อโอเวอร์โค้ท ซึ่งแต่ละใบจะไม่เหมือนกัน หากลูกค้าอยากได้ซ้ำก็ทำไม่ได้ และกลายเป็นเสน่ห์ของชิ้นงานซึ่งกว่าจะได้ขึ้นมาแต่ละชิ้นนั้น แม้จะไม่ได้ทำเองกับมือ แต่ยุทธนาก็ต้องไปนั่งดูขั้นตอนการผลิตทุกอย่าง เพื่อให้ได้ของดีที่สุด
แต่ขั้นตอนที่ว่ายากนั้น จะว่าไปก็เริ่มตั้งแต่ 'วัตถุดิบ' ที่เขาจะต้องไปซื้อเองจากตลาดโรงเกลือ ประมาณเดือนละครั้ง
“เสื้อผ้าไม่ใช่แล้วเป็นขยะก็จริง แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เรียกว่าแทบจะเหมาทั้งตลาด กว้านซื้อทั้งของญี่ปุ่นและเกาหลี"

จากนั้นจึงมาสู่ขั้นตอนการออกแบบงานบนพื้นฐานของวัตถุดิบที่มี เพราะหากเอาไอเดียบันเจิดเป็นหลัก จะติดปัญหาไม่สามารถผลิตได้จริง ทำให้หลายแบบต้องถูกเก็บเข้าลิ้นชักอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งยังต้องดูแนวโน้มของเทรนด์ เพื่อผสมผสานกันระหว่างไอเดียของเขากับกระแสโลก
ส่วนธีมของแต่ละคอลลเลคชั่นนั้นก็นำไอเดียมาจากสิ่งใกล้ตัวเป็นหลัก ซึ่งจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายในการคิดและทำให้เป็นรูปธรรม อย่างเช่น การใช้สีสันคัลเลอร์บาร์ 7 สี ที่ได้ไอเดียมาจากการนั่งดูทีวี แล้วกลายมาเป็นผลงานหลากสีสะดุดดตาที่ขายดีประจำปีนี้
แต่ทั้งหมดนี้ มุ่งเป้าไปที่ลูกค้าระดับกลางขึ้นไป เพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้ารีไซเคิล
"อยากได้กลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างมีเงิน เราจะได้มีอิสระในการทำงานอย่างสร้างสรรค์ให้มีคุณค่า เนื่องจากของมือสอง คนมีทัศนะคติไม่ดี ดังนั้น สินค้าที่ออกมาต้องดูดี ดูหรู กลุ่มลูกค้าจึงต้องเป็นกลุ่มนี้” ยุทธนาตอบอย่างคนมีไฟฝันที่มีทั้งความเป็นนักการตลาดและนักออกแบบรวมกัน