
โดย : คมน์ นพรัตน์
ประหยัด ประหยัด ประหยัด คือคำที่คนทำงานในวงการแฟชั่นโลกต้องท่องจำให้ขึ้นใจตลอดปี 2009 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป รวมทั้งต้องท่องจำคำว่าประหยัดให้ขึ้นใจไปจนถึงปีหน้า 2010 กันเลยทีเดียว เพราะพิษเศรษฐกิจที่พ่นไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทุกวงการไม่เว้นวงการแฟชั่น
2009 ฝันร้ายของวงการแฟชั่นโลก
ตั้งแต่ต้นปี 2009 วิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้บรรดานางแบบที่ทำงานกันอยู่ใน 4 เมืองแฟชั่นชั้นนำของโลกทั้งนิวยอร์ก ลอนดอน มิลาน และปารีส ต้องร้อนเงินกันถ้วนหน้า เพราะเมื่อเศรษฐกิจตกสะเก็ดก็ทำให้บรรดาดีไซเนอร์ผลิตเสื้อผ้าออกมาน้อยลง ซึ่งเมื่อเสื้อผ้าถูกผลิตออกมาน้อยลง ก็แน่นอนที่ต้องจ้างนางแบบมาเดินแบบน้อยลงไปตามจำนวนเสื้อผ้าด้วย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า นางแบบจำนวนน้อยนิดที่ได้งานเดินแบบจะรอดตาย มีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพราะนางแบบทุกคนต้องถูกตัดค่าตัวลงไปถึงครึ่งราคาด้วย
แม้กระทั่งนางแบบระดับซูเปอร์โมเดลอย่าง จีเซล บุนด์เชน รายได้ของเธอก็ยังลดลงอย่างฮวบฮาบไปเป็นจำนวนมากถึง 10 ล้านเหรียญเลยทีเดียว แม้ว่าเธอจะยังคงครองตำแหน่งนางแบบที่ทำรายได้มากที่สุดในโลกในปี 2009 ก็ตาม
สัญญาณเตือนอีกอย่างที่บ่งบอกถึงวิกฤตของวงการแฟชั่นโลกในปีนี้ ก็คือระยะเวลาที่ใช้จัดโชว์แฟชั่นชั้นสูงที่กรุงปารีส ต้องลดระยะเวลาจัดงานเหลือเพียงแค่ 3 วัน จากเดิมที่เคยจัดงานกันนาน 7 วัน
วิกฤตแฟชั่นโลก ส่อเค้าว่าจะมีความรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2008 และตลอดปี 2009 เราได้เห็นดีไซเนอร์ต่างงัดสารพัดวิธีขึ้นมาใช้เพื่อลดต้นทุนในการทำเสื้อ ผ้าในแต่ละคอลเลคชั่น ทั้งการใช้เงินให้น้อยที่สุดในการจัดโชว์แสดงผลงานคอลเลคชั่นใหม่ โดยเหล่าดีไซเนอร์จะทำโชว์เล็กๆ เป็นแบบพรีเซ็นเทชั่น โดยให้กลุ่มนางแบบสวมใส่เสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ แล้วก็ขึ้นมายืนโชว์เฉยๆ บนแท่น
ดีไซเนอร์บางรายประหยัดยิ่งกว่านั้น เพราะไม่มีทั้งการจัดโชว์เดินแฟชั่น หรือพรีเซ็นเทชั่น แต่ใช้วิธีจ้างนางแบบเพียงหนึ่งหรือสองคนมาสวมใส่เสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ เพื่อถ่ายรูปทำเป็น "LookBook" ส่งให้บายเออร์และสื่อมวลชนเปิดดูภาพเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่เอาเอง
ขนาดแบรนด์ดังอย่าง วิคเตอร์ แอนด์ รอล์ฟ ก็ยังรัดเข็มขัดแบบสุดๆ เพราะโชว์ของเขาใช้วิธีจ้างนางแบบเพียง "คนเดียว" ให้มาเดินแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ของพวกเขา โดยให้นางแบบมาถ่ายทำเทปการเดินแฟชั่นในบริษัทไว้ล่วงหน้า แล้วก็ตัดต่อโชว์นำไปลงไว้ให้ผู้สนใจได้ชมในเว็บไซต์ ไม่ต้องลงทุนเช่าสถานที่ ไม่ต้องจ้างนางแบบหลายสิบคน
อีกหนึ่งแบรนด์ดังอย่าง มาร์ค จาคอบส์ ต้นปี 2009 ที่ผ่านมา ก็ประกาศยกเลิกการจัดปาร์ตี้ใหญ่หลังจบโชว์ของพวกเขาในช่วงแฟชั่นวีค และยังได้ลดจำนวนที่นั่งชมสำหรับแขกรับเชิญออกไปเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนปกติ ที่เคยจัดไว้ เพราะยิ่งเชิญคนมามากก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นตามไปด้วย
และแม้เวลาจะล่วงเลยผ่านครึ่งปี 2009 ไปแล้ว แต่สถานการณ์วิกฤตแฟชั่นโลกก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า
แม้กระทั่งในบ้านเราเองก็ยังมีข่าวร้ายเกิดขึ้นกับผู้ประกอบธุรกิจแฟชั่นระดับยักษ์ใหญ่
เมื่อบริษัทบอดี้ แฟชั่น ผู้ประกอบธุรกิจผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อ ไทรอัมพ์ ส่ง ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไทรอัมพ์ได้ปรับลดพนักงานออกถึงเกือบ 2,000 คน เพราะประสบภาวะขาดทุน ซึ่งแต่เดิมไทรอัมพ์มีพนักงานอยู่มากถึง 4,000 คน
ส่วนวงการแฟชั่นโลกก็ต้องใจหายกับข่าว "ล้มละลาย" ของ คริสเตียน ลาครัวซ์ ห้องเสื้อใหญ่ระดับตำนาน
ด้วยจุดขายของ คริสเตียน ลาครัวซ์ ที่อยู่ที่การทำเสื้อผ้าสำหรับแฟชั่นชั้นสูง (Haute Couture) ซึ่งต้องตัดเย็บด้วยมือล้วนๆ และต้องสั่งตัดเป็นพิเศษ จึงทำให้ราคาของเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงมีราคาแพงมากถึงมากที่สุด แถมลูกค้าก็จำกัดเฉพาะคนในแวดวงสังคมชั้นสูง เมื่อเป็นแบบนี้ แม้ห้องเสื้อ คริสเตียน ลาครัวซ์ จะมีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับโลกมานานถึง 22 ปี แต่ถ้าหากเสื้อผ้าขายยาก ห้องเสื้อก็ต้องเจอกับภาวะล้มละลายเข้าสักวัน
โดยรายได้ของห้องเสื้อระดับตำนานลดลงไปถึง 35 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ทำให้บริษัทนายทุนเดิมขอโบกมือลา ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ดีไซเนอร์คริสเตียน ลาครัวซ์ ก็กำลังพยายามหาทางทำให้ห้องเสื้อของเขาพร้อมพนักงานอีก 125 คนอยู่รอดต่อไปให้ได้ โดยเขากำลังเจรจากับหลายบริษัทที่ต้องการจะเข้ามาช่วยโอบอุ้มสถานะทางการ เงินของห้องเสื้อ
คนในวงการแฟชั่นโลกก็หวังกันว่า ปีหน้า 2010 ดีไซเนอร์ฝีมือแพรวพราวคนนี้จะสามารถหานายทุนใหม่มาค้ำจุนให้ห้องเสื้อ ดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะขนาดสองห้องเสื้อใหญ่อย่าง เจียนฟรานโก เฟอเร กับ โยจิ ยามาโมโต ที่ประสบกับภาวะล้มละลายเช่นกัน แต่ห้องเสื้อใหญ่ทั้งสองก็ยังสามารถหานายทุนใหม่มาค้ำจุนให้ห้องเสื้อดำเนินกิจการต่อไปได้ดังเดิม
แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงก็คือ เวอร์ซาเช แบรนด์ชื่อดังของอิตาลี ห้องเสื้อใหญ่รายล่าสุดที่โดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนอยู่ในอาการร่อแร่ส่งท้ายปลายปี 2009
เพราะเวอร์ซาเช่ได้ประกาศปิดออฟฟิศและช็อปใหญ่ทุกแห่งในญี่ปุ่นไปแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปิดตำนานเวอร์ซาเช่ในประเทศผู้นำแฟชั่นแห่งเอเชีย ทั้งที่เปิดช็อปในแดนปลาดิบมานานถึง 28 ปี
โดยวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นสูงทุกแบรนด์ในญี่ปุ่นในช่วง ครึ่งแรกของปี 2009 โดยลดลงไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยอดขายทั่วทั้งทวีปเอเชียของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นสูงกลับเพิ่มขึ้นเพียง 4 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ทางเวอร์ซาเชยังได้บอกเลิกจ้างพนักงานไปถึง 1 ใน 4 ของทั้งบริษัท ซึ่งในมุมมองของนักวิเคราะห์แฟชั่นมองว่า การพยายามกอบกู้สภาพวิกฤตของห้องเสื้อใหญ่แห่งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ หากคนในตระกูลเวอร์ซาเช่ยังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการ
เพราะการบริหารของ โดนาเตลล่ เวอร์ซาเช ที่ผ่านมา ได้ทำให้ยอดขายของเวอร์ซาเช่ลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่พี่ชาย เจียนนี เวอร์ซาเช ยังมีชีวิตอยู่เมื่อปี 1996 ในปีนั้น ห้องเสื้อเวอร์ซาเชทำยอดขายได้ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หลังจากเจียนนี่เสียชีวิตไปเมื่อปี 1997 ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ยอดขายของเวอร์ซาเชกลับไม่เคยทำได้ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเดิมที่เคยทำได้อีก เลย
และแม้ที่ผ่านมาโดนาเตลลาจะพยายามกอบกู้สถานะของบริษัทให้เดินหน้าต่อไป ให้ได้ด้วยการลงทุนว่าจ้างบริษัท Bain & Co. บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการมาช่วยกอบกู้สถานะของเวอร์ซาเช โดยตั้งเป้าให้ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิมให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า แต่มีข่าวว่า ทางบอร์ดผู้บริหารของบริษัทกลับมีมติจะไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่โดนาเตลลา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณไปถึงตระกูลเวอร์ซาเชว่า กลุ่มบอร์ดผู้บริหารไม่ต้องการให้ห้องเสื้อเวอร์ซาเชอยู่ภายใต้การบริหารของ คนในตระกูลเวอร์ซาเชอีกต่อไป
2010 ถึงคราวปรับตัวสู่ "สตรีทแฟชั่น"
ห้องเสื้อชั้นนำแนวสตรีทแฟชั่น ที่ราคาไม่แพงจนเกินไปนักทั้ง ท็อปช็อป และ ท็อปแมน ต่างครองใจแฟนชาวอังกฤษมานานหลายสิบปี มีสาขาอยู่กว่า 30 ประเทศทั่วโลก ได้เปิดช็อปแห่งใหม่ในกรุงนิวยอร์กเป็นครั้งแรกในปี 2009 นี้
การเปิดตัวของท็อปช็อป และ ท็อปแมน ในสหรัฐฯ เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่เพราะได้ เคท มอส ซูเปอร์ โมเดลชื่อดังของอังกฤษ มาร่วมเป็นเกียรติ ซึ่งซูเปอร์โมเดลหุ่นบางรายนี้เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิงให้กับ ท็อปช็อปด้วย
ช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การที่เสื้อผ้าของท็อปช็อปได้รับความสนใจในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ก็เพราะได้ เคท มอส มาเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าให้ ซึ่งตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ซูเปอร์โมเดลสาว ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่แต่งตัวดีที่สุดในโลก ไม่ว่าเธอจะอยู่ในชุดสบายๆ ในวันพักผ่อน หรือชุดออกงานสุดหรู เคท ก็จะสะท้อนความเป็นตัวของตัวเองออกมาทางเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ ที่มีทั้งความ "หรูหรา" และความ "ติดดิน" ผสมผสานอยู่ในชุดเดียวกัน นั่นเพราะเคทชอบนำเสื้อผ้าแบรนด์เนมราคาแพงลิบลิ่ว มาใส่ผสมกับเสื้อผ้ามือสองราคาถูก หรืออาจค้นมาจาก "ตู้เสื้อผ้าบรรพบุรุษ" โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเลยก็ได้
และการได้เคทมาเป็นดีไซเนอร์ นั่นเป็นเพราะความต้องการของตัวเธอเองที่อยากร่วมงานกับท็อปช็อป ซึ่งเคทเองก็คงรู้ดีว่า การแต่งตัวแนวสตรีทสไตล์ของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งตัวให้กับสาวๆ ทั่วโลก ซึ่งในเมื่อเสื้อผ้าของท็อปช็อปก็เป็นแนวสตรีทอยู่แล้วและตัวเธอเองก็เป็น ลูกค้าของท็อปช็อปอยู่แล้วด้วย การจับมือร่วมงานกันระหว่างแบรนด์เสื้อผ้าแนวสตรีทราคาปานกลางกับนางแบบที่ เป็นเจ้าแม่แห่งสตรีทสไตล์ จึงเป็น "สูตรเคมีที่ลงตัวที่สุด" เพราะรับประกันได้ว่า งานนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าสวนกระแสเศรษฐกิจขาลงแน่นอน
เพราะสาวๆ ที่อยากสวยเท่ห์เหมือนเคทก็ไม่ต้องคิดมากอีกต่อไปว่าจะซื้อเสื้อผ้าแบบไหนดี ถึงจะทำให้ตัวเองดูเหมือนเคทมากที่สุด เพราะเพียงแค่เดินเข้าไปในร้านท็อปช็อปสาวๆ ก็จะเจอเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยเคท ถอดแบบออกมาจากการแต่งตัวของเคททุกกระเบียดนิ้ว ที่สาวๆ สามารถหลับตาหยิบชุดไหนไปจ่ายสตางค์ก็รับประกันว่า ใส่แล้วต้องออกมาเหมือนนางแบบเคท มอส แน่นอนไม่ผิดเพี้ยน (แถมยังประหยัดเงินในกระเป๋า)
ขณะที่ Style.com เว็บไซต์แฟชั่นชั้นนำของโลก ก็ถึงกับพาดหัวหน้าหนึ่งของเว็บไซต์ถึงการเปิดช็อปใหญ่แห่งแรกของ ท็อปช็อปและท็อปแมนในสหรัฐฯว่าเป็น "The British Invasion" หรือ "การบุกรุกของอังกฤษ"
และในปีหน้า 2010 วงการแฟชั่นระดับโลกน่าจะได้เห็น "สูตรเคมีที่ลงตัวที่สุด" ระหว่างแบรนด์ "สตรีทแฟชั่น" ราคาไม่แพงเกินไปที่จะจับมือทำงานร่วมกับดีไซเนอร์กลุ่ม "ไฮแฟชั่น" ที่กำลังพยายามเอาตัวรอดประคับประคองแบรนด์สุดหรูของตัวเองให้พ้นจากการล้ม ละลายในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดที่ยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2008 ไปจนถึงปีหน้า 2010 และไม่แน่ด้วยว่า เศรษฐกิจโลกอาจอยู่ในภาวะขาลงนานกว่านั้น
ดูอย่างเสื้อผ้าสตรีทสไตล์ราคาปานกลางของสวีเดนที่ชื่อ เอชแอนด์เอ็ม ปี 2009 นี้ เราก็ได้เห็นเอชแอนด์เอ็ม จ้างดีไซเนอร์ใหญ่ของปารีสอย่าง ซอนยา รีเคียล มาออกแบบเสื้อให้ โดยตัวซอนยานั้นมีแบรนด์เสื้อผ้าชื่อเดียวกับตัวเองมานานตั้งแต่ยุค 70 ที่โดดเด่นในเรื่องเสื้อถัก (แต่ราคาสุดโหด) ซึ่งในที่สุด เอชแอนด์เอ็มก็ช่วยให้เราสามารถซื้อเสื้อผ้าของซอนย่า รีเคียล ได้ในราคาเบาๆ
ในงานออกแบบรองเท้า ทางเอชแอนด์เอ็มก็ได้จ้างดีไซเนอร์รองเท้าชื่อดังอย่าง จิมมี่ ชู มาออกแบบรองเท้าให้ โดยรองเท้าของจิมมี่ ชู เป็นหนึ่งในแบรนด์รองเท้าที่สาวๆ ต่างก็อยากมีโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตได้จับจองเป็นเจ้าของซักคู่ แต่ด้วยราคาสุดโหดที่ตั้งไว้สำหรับเหล่าผู้มีอันจะกินเท่านั้น ทำให้รองเท้าจิมมี่ ชู เป็นเพียงแค่รองเท้าในฝัน แต่ในที่สุดแบรนด์เอชแอนด์เอ็มก็ทำให้ความฝันของสาวๆ ผู้รักแฟชั่นเป็นจริงในปีนี้ เพราะสาวๆ สามารถซื้อรองเท้าที่เป็นฝีมือการออกแบบของจิมมี่ ชู ได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป
ตบท้ายด้วยอีกหนึ่งแบรนด์ราคาสูงอย่าง จิล แซนเดอร์ จากเยอรมัน ที่โดดเด่นเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าสุดเรียบหรู ปี 2009 นี้ แบรนด์ราคาปานกลางของญี่ปุ่นที่ชื่อ ยูนิคโล ก็ได้จ้างจิล แซนเดอร์ ให้มาออกแบบเสื้อผ้าให้ เพื่อนำไปวางขายในราคาพอประมาณที่คนเดินดินทุกคนสามารถจับจองได้
ถึงคราวที่แบรนด์ชั้นนำราคาแพงลิบลิ่วต้องปรับตัวกันแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจของตัวเองต้องล้มหายตายจากไปจากสารบบแฟชั่น ซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่เหล่าคนรักแฟชั่นนั่นเอง เพราะถึงคราวที่ทุกคนจะได้ทั้งประหยัดเงินในกระเป๋า แต่ก็ยังดูดีมีรสนิยมได้ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นฝีมือการออกแบบของ ดีไซเนอร์ชั้นนำระดับโลก (ในราคาที่พอสู้ไหว)